วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

นาวิกโยธิน

นาวิกโยธิน (Marine) คือ ทหารเรือที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ เพื่อปฏิบัติภารกิจนอกเหนือจากในน่านน้ำตามปกติ โดยมุ่งเน้นการรบภาคพื้นดิน นับ เป็นการรบสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อสนับสนุนการรบของทหารเรือ และอาจทำการรบร่วมกับทหารจากหน่วยรบอื่นๆ เช่น ทหารบก หรือ ทหารอากาศก็ได้ นาวิกโยธินจึงเปรียบเสมือนทหารเหล่าราบของกองทัพเรือนั่นเอง

ทหารเรือฝ่ายนาวิกโยธินนับว่ามีขีดความสามารถสูง ได้รับการฝึกทั้งการรบทางทะเลและการรบทางบก สามารถปฏิบัติการได้คล่องตัว เช่น เมื่อต้องการยกพลขึ้นบก การยุทธที่มีความคาบเกี่ยวกับสถานการณ์บกและน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติงานในท้องที่ชายฝั่ง รักษาความสงบตลอดน่านน้ำ

ทหารนาวิกโยธินของราชนาวีไทย อยู่ใน "ส่วนกำลังรบ" สังกัด "หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน" ของกองทัพเรือ โดยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยเรียกว่า "ทหารมะรีน" อันเป็นคำทับศัพท์จากคำว่า "Marines" ในภาษาอังกฤษ แต่กิจการทหารมะรีน หรือนาวิกโยธินในอดีตไม่สู้มั่นคงนัก ได้มีการจัดตั้งและยุบเลิกไปหลายครั้ง

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 กองทัพเรือได้ดำเนินการสถาปนากรมนาวิกโยธินขึ้นอีกครั้ง ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ตึกซึ่งเป็นที่ทำงานของกองกิจการพิเศษ ภายใต้คำแนะนำของกองทัพอเมริกันถึงความจำเป็นที่ต้องมีนาวิกโยธิน ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้ง และได้สืบต่อกิจการนาวิกโยธินอย่างจริงจังต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านี้ หน่วยนาวิกโยธินถูกยุบไปเนื่องจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ดังนั้นถือแม้ว่าในยามปกติ นาวิกโยธินจะขึ้นตรงต่อกองทัพเรือก็ตาม แต่ในยามศึก นาวิกโยธินจะต้องถูกโอนย้ายสายการบังคับบัญชาไปขึ้นตรงต่อกองทัพภาค 3 ทันที

เมื่อกิจการนาวิกโยธินดำเนินมาได้ 4 ปี จึงได้ปรับเปลี่ยนหน่วยงาน และเปลี่ยนชื่อเป็น "หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน" เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2502 และเรียกวันสถาปนานี้ว่า "วันทหารนาวิกโยธิน" ทั้งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ในวันดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
ภารกิจ
โดยทั่วไปทหารนาวิกโยธินจะมีหน้าที่หลักในการยกพลขึ้นบก เพื่อยึดหัวหาดหรือการสถาปนากองกำลังบนบก เป็นหน่วยแรกและจะเผชิญกับการต่อต้านของฝ่ายตรงข้ามที่ป้องกันชายหาด ทหารนาวิกโยธินจึงมีการสูญเสียกำลังพลสูง เมื่อสถาปนากองกำลังได้แล้ว ทหารบกจะเคลื่อนพลขึ้น และการรบหลักบนบกจะเป็นหน้าที่ของทหารบก ในปัจจุบันนาวิกโยธินได้ถูกนำมาใช้เป็นกำลังรบหลักบนบกซึ่งมีขีดความสามารถเท่ากับทหารราบของกองทัพบกเลยก็ว่าได้ นาวิกโยธินสามารถร้องขอการสนับสนุนการโจมตีจากทะเลได้เช่น การระดมยิงจากเรือหรือจรวดไปยังเป้าหมายที่ทำการแจ้งไป การใช้กำลังทางอากาศ ใช้อากาศยานสนับสนุนนาวิกโยธินอย่างใกล้ชิด โดยใช้เครื่องAV-8S(Harrier)ซึ่งเป็นเครื่องขึ้นลงทางดิ่ง ทำให้นาวิกโยธินสามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิประภาพมากขึ้น การขนส่งในอดีตนาวิกโยธินจะใช้ยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกในการบุกหรือเข้ายึดหัวหาด แต่ในปัจจุบันนั้นจะมีการใช้เฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานปีกหมุนเข้าช่วยในการขนส่งนาวิกโยธินเข้าสู่แนวหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น


Navy Force Recon Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น